ประวัติสุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นกวีเอกคนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นคนจังหวัดไหนไม่ปรากฏ ตั้งแต่สุนทรภู่ยังเด็ก บิดากลับไปบวชที่เมืองแกลง ส่วนมารดามีสามีใหม่มีลูกผู้หญิงอีก 2 คน ชื่อฉิมกับนิ่ม ต่อมามารดาได้เป็นแม่นมของพระองค์เจ้าจงกล พระธิดาของกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่จึงเข้าไปอยู่ในวังกับมารดา ตอนยังเป็นเด็ก สุนทรภู่ได้เล่าเรียนที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) โตขึ้นก็เข้ารับราชการเป็นนายระวางพระคลังสวน ไม่นานก็ลาออกเพราะไม่ชอบงานนี้ ชอบแต่การแต่งกลอน และแต่งสักวาเท่านั้น
ต่อมาสุนทรภู่มีสัมพันธ์รักกับสาวชาววังชื่อจัน จึงถูกจองจำทั้งคู่ ครั้นพ้นโทษ แล้วก็ได้แต่งงานกัน และถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสของพระราชวังหลัง สุนทรภู่มีบุตรชายกับจันชื่อพัด ชีวิตคู่ของสุนทรภู่ไม่ราบรื่นเลยมักระหองระแหงกันเสมอ จนในที่สุดก็เลิกร้างกัน แล้วสุนทรภู่ก็ได้เข้ารับราชการกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เป็นที่โปรดปรานมากจดได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร เวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนติดขัดก็มักให้ สุนทรภู่แต่งต่อให้ ระยะนี้เองสุนทรภู่ก็ได้ภรรยาใหม่ชื่อนิ่ม มีบุตรด้วยกันชื่อตาบ นิ่มเสียชีวิตไปตั้งแต่ตาบยังเล็กอยู่ 4 คราวหนึ่งสุนทรภู่เมาสุรา แล้วทำร้ายญาติผู้ใหญ่จนบาดเจ็บจึงถูกจำคุก ในระหว่างต้องโทษนี้เอง ที่สุนทรภู่แต่งนิทานเรื่อง พระอภัยมณี เพื่อขายเอาเงินมาเลี้ยงชีวิต จำคุกได้ไม่นานก็พ้นโทษออกมารับราชการตามเดิม
พอสิ้นราชการที่ 2 สุนทรภู่ก็ออกจากราชการเพราะไม่เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) ออกจากราชการแล้วสุนทรภู่ก็บวชเป็นพระภิกษุอยู่ในวัดราชบูรณะ บวชได้ราว 3 พรรษา ก็ต้องอธิกรณ์ (โทษ) ถูกขับไล่ออกจากวัดในข้อหาเสพสุรา จึงไปอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม ไม่นานก็ย้ายไปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และวัดสุดท้ายคือวัดเทพธิดาราม แล้วก็สึกออกมา รวมเวลาบวชเป็นพระภิกษุประมาณ 18-20 ปี จากนั้นก็ตกยากจนไม่มีบ้านอยู่ต้องลอยเรือร่อนเร่แต่งกลอนขายปลายรัชกาลที่ 3 เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์โปรด ฯ ให้สุนทรภู่ไปอยู่ที่ราชวังของพระองค์ ครั้นได้รับสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ก็โปรดเกล้าให้สุนทรภู่เข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร รับราชการเพียง 5 ปีก็ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี
ผลงานของสุนทรภู่
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้แต่งประวัติสุนทรภู่โดยพิสดารไว้ กล่าวว่า ได้ทรงค้นพบมี ประมาณ ๒๔ เรื่อง โดยแยกประเภทดังนี้
นิราศ ๙ เรื่อง
นิราศ คือ บทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อบรรยายถึงสภาพการเดินทาง ด้วยสมัยก่อนการเดินทางค่อนข้าง ลำบากและใช้เวลานาน นักเดินทางจึงแก้ความเหงาเบื่อด้วยการประพันธ์บทกวี พรรณนาถึงการเดินทาง และสภาพภูมิประเทศ โดยมากมักโยงเข้ากับความรัก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายที่มาของนิราศไว้ ดังนี้: "หนังสือจำพวกที่เรียกว่านิราศ เป็นบทกลอนแต่งเวลาไปทางไกล มูลเหตุจะเกิดหนังสือชนิดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะเวลาเดินทาง ที่มักต้องไปเรือหลายๆ วันมีเวลาว่างมาก ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไป จนเกิดเบื่อ ก็ต้องคิดหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้สันทัดในทางวรรณคดี จึงแก้รำคาญโดยทางกระบวนคิดแต่ง บทกลอน บทกลอนแต่งในเวลาเดินทางเช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะพรรณนาว่าด้วยสิ่งซึ่งได้พบเห็นในระยะ ทาง แต่มักแต่งประกอบกับครวญคิดถึงคู่รักซึ่งต้องพรากทิ้งไว้ทางบ้านเรือน กระบวนความในหนังสือนิราศ จึงเป็นทำนองอย่างว่านี้ทั้งนั้น ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์...นิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งทั้งเป็นโคลงแลเป็นกลอนสุภาพ ดูเหมือนกวีที่แต่งนิราศ
ในครั้งรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ จะถือคติต่างกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งถือคติเดิมว่า โคลงฉันท์เป็นของสำคัญ และแต่งยากกว่ากลอน กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นโคลงตามเยี่ยงอย่างศรีปราชญ์ทั้งนั้น กวีอีกพวกหนึ่งชอบ เพลงยาว อย่างเช่นเล่นกันเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพทั้งนั้น ถ้าว่าเฉพาะที่เป็นกวีคนสำคัญในพวกหลังนี้ คือสุนทรภู่แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพมากเรื่องกว่าใครๆ หมด กลอนของ สุนทรภู่คนชอบอ่านกันแพร่หลาย ก็ถือเอานิราศของสุนทรภู่เป็นแบบอย่างแต่งนิราศกันต่อมา ตั้งแต่รัชกาล ที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕" นิราศของสุนทรภู่ นอกจากจะพรรณนาการเดินทางแล้ว ท่านยังสอดแทรกคติธรรม ข้อเตือนใจต่างๆ และเปรียบเทียบถึงชีวิตของตัวท่านเองเข้าไว้ด้วย ทำให้นักศึกษางานของท่านสืบเสาะประวัติของท่านจาก งานนิพนธ์ของท่านเองได้มาก ท่านสุนทรภู่แต่งนิราศไว้มาก
แต่เท่าที่พบในปัจจุบันมี ๘ เรื่อง คือ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร ส่วน รำพันพิลาป ก็มีเนื้อความรำพึงรำพันทำนองเดียวกับนิราศ เนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านสุนทรภู่เป็น ส่วนใหญ่ นอกเหนือจากนี้ ในช่วงเวลาที่ท่านบวชเป็นพระนั้น ท่านได้ธุดงค์ไปทั่ว จึงเชื่อว่ายังมีนิราศ เรื่องอื่นของท่านที่ยังมิได้ค้นพบ หรืออาจไม่มีวันค้นพบก็ได้ เพราะต้นฉบับอาจถูกทำลายไปเสียแล้วเมื่อ ครั้งปลวกขึ้นกุฏิของท่านที่วัดเทพธิดารามรำพันพิลาป
ปี พ.ศ.๒๓๘๕ พระสุนทรภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านได้ประพันธ์บทกลอนเชิงนิราศเรื่อง "รำพันพิลาป" ขึ้น เนื่องจากเกิดนิมิตฝันอันเป็นลางร้าย ว่าจะต้องถึงแก่ชีวิต ในฝันนั้นท่านว่าได้พบเห็นนางฟ้านางสวรรค์มากมาย รวมถึงนางมณีเมขลา มาชักชวนให้ท่านละชมพูทวีป แล้วไปอยู่สวรรค์ด้วยกัน เรื่องนางสวรรค์นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าน่าจะหมายถึง กรมหมื่นฯ อัปสรสุดาเทพ นัยว่าท่านสุนทรภู่มีจิตพิศวาสอยู่ จะเป็นจริงเช่นไร ท่านผู้อ่านต้องลองอ่านบทกลอนของท่านสุนทรภู่เอง สำหรับข้าพเจ้าเองเห็นว่า น่าจะหมายถึงนางฟ้าจริงๆ มิได้มีความหมายอื่น
ด้วยท่อนหนึ่งในนิราศบทนี้ ท่านยังอ้อนวอนนางมณีเมขลา ว่าให้แก้วแล้ว ขอประโยชน์โพธิญาณถึงพระนิพพานเถิด เช่นเดียวกับที่ท่านได้เคยแสดงความปรารถนาพุทธภูมิไว้ในนิราศหลายๆ เรื่องการเกิดฝันเช่นนี้ เมื่อท่านตื่นขึ้นจึงได้รีบแต่ง "รำพันพิลาป" นี้ขึ้น แสดงความในใจและประวัติชีวิตของท่านในหลายๆ ส่วน รวมถึงประเพณีเทศกาลต่างๆ ที่ได้ประสบพบผ่านมา ซึ่งในส่วนนี้เองทำให้เราทราบว่า ยังมีนิราศของท่านอีกหลายเรื่องที่ท่านแต่งไว้ 12 แต่เรายังไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะปลวกขึ้นกุฏิของท่าน ทำให้ต้นฉบับบทกลอนที่มีค่ายิ่งสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย เว้นเสียแต่จะมีผู้พบต้นฉบับคัดลอกจากที่อื่นเมื่อข้าพเจ้าอ่าน "รำพันพิลาป" จบ
ข้าพเจ้าอยากให้ผู้คนทั้งหลายที่เคยคิดว่าสุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้ สุนทรภู่เป็นคนขี้เมา ได้มาอ่านนิราศเรื่องนี้ด้วย ตลอดช่วงชีวิต ๖๙ ปีของท่าน ได้มีห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ เมื่อครั้งรับราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพียง ๘ ปี ช่วงเวลาที่เหลือในชีวิตของท่านเป็นเช่นไร ขอท่านได้โปรดอ่าน "รำพันพิลาป" จนจบ และตรองดูเถิด
นิทาน ๕ เรื่อง
ในสมัยก่อน ยังไม่มีคำว่า นิยาย หรือนวนิยาย เรื่องบันเทิงต่างๆ ยังใช้เรียกกันว่า"นิทาน" ทั้งนั้นแต่เดิมนิทานมักแต่งด้วยลิลิต ฉันท์ หรือกาพย์ นายเจือ สตะเวทิน ได้กล่าวยกย่องสุนทรภู่ในการริเริ่มใช้กลอนสุภาพบรรยายเรื่องราวเป็นนิทาน ดังนี้ว่า"ท่านสุนทรภู่ ได้เริ่มศักราชใหม่แห่งการกวีของเมืองไทย โดยสร้างโคบุตรขึ้นด้วยกลอนสุภาพ นับตั้งแต่เดิมมา เรื่องนิทานมักเขียนเป็นลิลิต ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นคนแรกที่เสนอศิลปะของกลอนสุภาพ ในการสร้างนิทานประโลมโลก และก็เป็นผลสำเร็จ
โคบุตรกลายเป็นวรรณกรรมแบบฉบับที่นักแต่งกลอนทั้งหลายถือเป็นครู นับได้ว่าโคบุตรมีส่วนสำคัญยิ่งในประวัติวรรณคดีของชาติไทย"คุณวิเศษของท่านสุนทรภู่ที่ทำให้นิทานของท่านโดดเด่นกว่านิทานเรื่องอื่นๆนอกจากในกระบวนกลอนที่สันทัดจัดเจนเป็นอย่างยิ่งแล้ว ความเป็นปราชญ์ของท่านก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งโดยการสอดแทรกคติทั้งทางพุทธทางพราหมณ์ ความรู้ในวรรณกรรมโบราณ คัมภีร์ไตรเพท และความรู้อันน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของโลกซึ่งกาญจนาคพันธุ์ (ขุวิจิตรมาตรา) ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดน่าสนใจอย่างยิ่งใน "ภูมิศาสตร์สุนทรภู่" มีการวิจารณ์กันว่า กลอนนิทานเรื่องลักษณวงศ์ และสิงหไตรภพนั้นสำนวนอ่อนกว่าเรื่องพระอภัยมณีมากนัก ไม่น่าที่ท่านสุนทรภู่จะแต่งเรื่องพระอภัยมณีก่อน
นิทาน ๕ เรื่อง ได้แก่
๑. เรื่องโคบุตร (๘ เล่มสมุดไทย)
๒. เรื่องพระอภัยมณี(๙๔ เล่มสมุดไทย)
๓. เรื่องพระไชยสุริยา (แต่งเป็นกาพย์) (๑ เล่มสมุดไทย)
๔. เรื่องลักษณวงศ์ (๙ เล่มสมุดไทย มีแต่งต่ออีก ๑๐ เล่มด้วยสำนวนผู้อื่น)
๕. เรื่องสิงหไตรภพ (๑๕ เล่มสมุดไทย)
สุภาษิต ๓ เรื่อง
๑. สวัสดิรักษา
๒. เพลงยาวถวายโอวาท
๓. สุภาษิตสอนหญิง
บทละคร ๑ เรื่อง
๑. เรื่องอภัยนุราช
บทเสภา ๒ เรื่อง
๑. เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
๒. เรื่องพระราชพงศาวดาร (๘ เล่มสมุดไทย)
บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง
๑. เห่เรื่องจับระบำ
๒. เห่เรื่องกากี
๓. เห่เรื่องพระอภัยมณี
๔. เห่เรื่องโคบุตร
กลอนอมตะ
การคบคน
“เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล”
(นิราศพระบาท)
16
“ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา”
(นิราศภูเขาทอง)
คติในการพูด
“ถึงบางพูดพูดดีมีศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
(นิราศภูเขาทอง)
“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นทราก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย”
(เพลงยาวถวายโอวาท)
ความเป็นอนิจจัง
“โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย
นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ ที่จิตใจจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิด”
(นิราศภูเขาทอง)
“โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก เสียดายนักนึกหน้าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น”
(นิราศภูเขาทอง)
ที่มาhttp://www.dmc.tv/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น