ประวัติดังกล่าวมีบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์อิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังนี้
อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง | | สำหรับงานการฉลองกองกุศล |
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ | | แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไปฯ |
นอกจากนี้ ยังมีบรรยายไว้ในปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ระบุถึงการนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเช่นกัน โดยเล่าว่ามีงานมหรสพที่เล่นเรื่องอิเหนา ดังนี้
ร้องเรื่องระเด่นโดย | | บุษบาตุนาหงัน |
พักพาคูหาบรรณ- | | พตร่วมฤดีโลม ฯ |
เนื้อเรื่องตรงกับอิเหนาเล็ก ที่ว่าถึงตอนลักบุษบาไปไว้ในถ้ำ ซึ่งไม่ปรากฏในเรื่องอิเหนาใหญ่
เรื่องอิเหนา หรือที่เรียกกันว่านิทานปันหยีนั้น เป็นนิทานที่เล่าแพร่หลายกันมากในชวา เชื่อกันว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของชวา ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ปรุงแต่งมาจากพงศาวดารชวา และมีด้วยกันหลายสำนวน พงศาวดารเรียกอิเหนาว่า “ปันจี อินู กรัตปาตี” (Panji Inu Kartapati) แต่ในหมู่ชาวชวามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปันหยี” (Panji) ส่วนเรื่องอิเหนาที่เป็นนิทานนั้น น่าจะแต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 หรือในยุคเสื่อมของราชวงศ์อิเหนาแห่งอาณาจักรมัชปาหิต และอิสลามเริ่มเข้ามาครอบครอง นิทานปันหยีของชวานั้น มีด้วยกันหลายฉบับ แต่ฉบับที่ตรงกับอิเหนาของเรานั้น คือ ฉบับมาลัต ใช้ภาษากวีของชวาโบราณ มาจากเกาะบาหลี อิเหนาในภาษาไทย
นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยก็ได้แต่งเรื่องอิเหนาขึ้นมาหลายสำนวนด้วยกัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก และน่าแปลกใจที่พบว่ามีอิเหนาในภาษาไทยกว่าสิบสำนวน ดังนี้
1. บทละครเรื่องอิเหนาครั้งกรุงเก่า. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช มีอยู่ตอนเดียว เข้าใจว่าเป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า
4. บทละครเรื่องดาหลัง. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
6. บทมโหรีเรื่องอิเหนา. ของเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) ในรัชกาลที่ 2
10. อิเหนาคำฉันท์ พระนิพนธ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 4 ตอนเข้าห้องจินตะหรา
12. บทละครพูดเรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ตอนศึกกระหมังกุหนิง
13. บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตอนใช้บน
14. บทสักวาเรื่องอิเหนา เล่นถวายในรัชกาลที่ 5 ตอนเสี่ยงเทียน ตอนชนไก่ และตอนสึกชี
15. หิกะยัต ปันหยี สมิรัง. พระนิพนธ์แปล ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามลายู
16. อิเหนาฉบับอารีนครา. แปลจากอิเหนาชวา ผู้แต่งชื่ออารีนครา ขุนนิกรการประกิจ เป็นผู้แปล
17. ปันหยี สะมิหรัง คำกลอน. น.อ.หลวงสำรวจวิถีสมุทร ประพันธ์จากเรื่อง หิกะยัต ปันหยี สมิรัง
18. เล่าเรื่องอิเหนา รศ. วิเชียร เกษประทุม
อย่างไรก็ตาม เรื่องอิเหนาเป็นที่นิยมกันมากกว่าเรื่องดาหลัง เนื่องจากเรื่องดาหลังมีเนื้อเรื่องที่ซ้ำซ้อน และสับสนมากทีเดียว แต่แม้จะเป็นเรื่องจากชวา การบรรยายบ้านเมืองและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนเป็นฉากของไทยทั้งสิ้น และนับว่าน่ายินดี ที่มีการนำอิเหนาฉบับของชวามาแปลให้ชาวไทยได้รู้จักและเปรียบเทียบกับอิเหนาฉบับดั้งเดิมของไทย
นิทานปันหยี หรือเรื่องอิเหนานับเป็นวรรณคดีต่างประเทศอีกเรื่องหนึ่งที่มีคำศัพท์ชวาจำนวนไม่น้อย เช่น บุหงา บุหลัน บุหรง ลางิต ตุนาหงัน มะงุมมะงาหรา ฯลฯ
คุณค่าในวรรณคดี
๑. คุณค่าในด้านเนื้อเรื่อง บทละครเรื่องอิเหนา มีโครงเรื่องและเนื้อเรื่องที่สนุก โครงเรื่องสำคัญเป็นเรื่องการชิงบุษบาระหว่างอิเหนากับจรกา เรื่องความรักระหว่างอิเหนากับบุษบา เนื้อเรื่องสำคัญก็คือ อิเหนาไปหลงรักจินตะหรา ทั้งที่มีคู่หมั้นอยู่แล้วซึ่งก็คือบุษบา ทำให้เกิดปมปัญหาต่างๆ
๒. คุณค่าในด้านวรรณศิลป์
๒.๑ ความเหมาะสมของเนื้อเรื่องและรูปแบบ บทละครอิเหนาเป็นบทละครใน มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ กลวิธีการดำเนินเรื่องจึงยึดรูปแบบอย่างเคร่งครัด อากัปกิริยาของตัวละครต้องมีสง่า มีลีลางดงามตามแบบแผนของละครใน โดยเฉพาะการแสดงศิลปะการร่ายรำจะต้องมีความงดงาม ภาษาที่ใช้เหมาะสมกับตัวละคร จะใช้ถ้อยคำไพเราะ แสดงออกถึงอารมณ์ของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความอาลัยอาวรณ์ ความโกรธ ความรัก การประชดประชัน กระบวนกลอนตลอดจนเพลงขับร้องและเพลงหน้าพาทย์มีความไพเราะอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นบทละครในที่เพียบพร้อมด้วยรูปแบบของการละครอย่างครบถ้วน
๒.๒ การบรรยายและการพรรณนามีความละเอียดชัดเจน ทำให้เกิดจินตภาพ ไม่ว่าจะเป็นฉาก เหตุการณ์ สภาพบ้านเมือง ภูมิประเทศ รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร ผู้อ่านเกิดความรู้สึกและความเกิดความเข้าใจในบทละครเป็นอย่างดี เนื่องจากการใช้โวหารเรียบเรียงอย่างประณีต เรียบง่าย และชัดเจน
๒.๓ การเลือกใช้ถ้อยคำดีเด่นและไพเราะกินใจ การใช้ถ้อยคำง่าย แสดงความหมายลึกซึ้ง กระบวนกลอนมีความไพเราะ เข้ากับบทบาทของตัวละคร โดยใช้กลวิธีต่างๆ ในการแต่ง
๒.๔ การใช้ถ้อยคำให้เกิดเสียงเสนาะ คำสัมผัสในบทกลอนทำให้เกิดเสียงเสนาะ มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ทำให้กลอนเกิดความไพเราะ
๓. คุณค่าในด้านความรู้
๓.๑ สังคมและวัฒนธรรมไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างฉากและบรรยากาศในเรื่องให้เป็นสังคม วัฒนธรรม และบ้านเมืองของคนไทย แม้ว่าบทละครเรื่องอิเหนาจะได้เค้าเรื่องเดิมมาจากชวา ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีไทยในพระราชสำนักและของชาวบ้านหลายประการ
๔. คุณค่าทางด้านการละครและศิลปกรรม
๔.๑ การละคร บทละครเรื่องอิเหนาเป็นยอดของละครรำ เพราะใช้คำประณีต ไพเราะ เครื่องแต่งตัวละครงดงาม ท่ารำงาม บทเพลงขับร้องและเพลงหน้าพาทย์กลมกลืนกับเนื้อเรื่องและท่ารำ จึงนับว่าดีเด่นในศิลปะการแสดงละคร
๔.๒ การขับร้องและดนตรี วงดนตรีไทยนิยมนำกลอนจากวรรณคดีเรื่องอิเหนาไปขับร้องกันมาก เช่น ตอนบุษบาเสี่ยงเทียน และตอนประสันตาต่อนก เป็นต้น
๔.๓ การช่างของไทย ผู้อ่านจะได้เห็นศิลปะการแกะสลักลวดลายการปิดทองล่องชาด และลวดลายกระหนกที่งดงามอันเป็นความงามของศิลปะไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ
ข้อคิด
๑. การเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ จากในวรรณคดีเรื่องอิเหนานั้น เราได้ข้อคิดเกี่ยวกับการเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่รู้จักระงับความอยากของตน หรือพอใจในสิ่งที่ตนมีแล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา และคนอื่นๆ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ดังเช่นในตอนที่อิเหนาได้เห็นนางบุษบาแล้วเกิดหลงรัก อยากได้มาเป็นมเหสีของตน กระนั้นแล้ว อิเหนาจึงหาอุบายแย่งชิงนางบุษบา แม้ว่านางจะถูกยกให้จรกาแล้วก็ตาม โดยที่อิเหนาได้ปลอมเป็นจรกาไปลักพาตัวบุษบา แล้วพาไปยังถ้ำทองที่ตนได้เตรียมไว้ ซึ่งการกระทำของอิเหนานั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว พิธีที่เตรียมไว้ก็ต้องล่มเพราะบุษบาหายไป อีกทั้งเมืองยังถูกเผา เกิดความเสียหายเพียงเพราะความเอาแต่ใจอยากได้บุษบาของอิเหนานั่นเอง
๒. การใช้อารมณ์ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้น ย่อมต้องประสบพบกับเรื่องที่ทำให้เราโมโห หรือทำให้อารมณ์ไม่ดี ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น เราควรจะต้องรู้จักควบคุมตนเอง เพราะเมื่อเวลาเราโมโห เราจะขาดสติยั้งคิด เราอาจทำอะไรตามใจตัวเองซึ่งอาจผิดพลาด และพลอยทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก ฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง และเมื่อเรามีสติแล้วจึงจะมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งภายในเรื่องอิเหนาเราจะเห็นได้จากการที่ท้าวดาหาได้ประกาศยกบุษบาให้ใครก็ตามที่มาสู่ขอ โดยจะยกให้ทันที เพราะว่าทรงกริ้วอิเหนาที่ไม่ยอมกลับมาแต่งงานกลับบุษบาตามที่ได้หมั้นหมายกันไว้ การกระทำของท้าวดาหานี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายหลายอย่างตามมา และท้าวดาหานั้นยังกระทำเช่นนี้โดยมิได้สนใจว่าบุตรสาวของตนจะรู้สึกเช่นไร หรือจะได้รับความสุขหรือความทุกข์หรือไม่
๓. การใช้กำลังในการแก้ปัญหา โดยปกติแล้ว เวลาที่เรามีปัญหาเราควรจะใช้เหตุผลในการแก้การปัญหานั้น ซึ่งถ้าเราใช้กำลังในการแก้ปัญหา นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมา และอาจเป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไปด้วย ตัวอย่างเช่น ท้าวกะหมังกุหนิงที่ได้ส่งสารมาสู่ขอบุษบาให้กับวิหยาสะกำบุตรของตน เมื่อทราบเรื่องจากท้าวดาหาว่าได้ยกบุษบาให้กับจรกาไปแล้ว ก็ยกทัพจะมาตีเมืองดาหาเพื่อแย่งชิงบุษบา ซึ่งการกระทำที่ใช้กำลังเข้าแก้ปัญหานี้ก็ให้เกิดผลเสียหลายประการ ทั้งทหารที่ต้องมาต่อสู้แล้วพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก สูญเสียบุตรชาย และในท้ายที่สุดตนก็มาเสียชีวิต เพียงเพราะต้องการบุษบามาให้บุตรของตน
๔. การไม่รู้จักประมาณตนเอง เราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีในสิ่งที่แตกต่างกัน เกิดมาในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน เราก็ควรรู้จักประมาณตนเองบ้าง ใช้ชีวิตไปกับสิ่งที่คู่ควรกับตนเอง พอใจในสิ่งที่ตนมี เราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย ถ้าเรารู้จักประมาณตนเองก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักประมาณตนเอง ก็อาจทำให้เราไม่มีความสุข เพราะไม่เคยสมหวังในชีวิต เช่นกับ จรกาที่เกิดมารูปชั่ว ตัวดำ อัปลักษณ์ หน้าตาน่าเกลียด จรกานั้นไม่รู้จักประมาณตนเอง ใฝ่สูง อยากได้คู่ครองที่สวยโสภา ซึ่งก็คือบุษบา เมื่อจรกามาขอบุษบา ก็ไม่ได้มีใครที่เห็นดีด้วยเลย ในท้ายที่สุด จรกาก็ต้องผิดหวัง เพราะอิเหนาเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับบุษบาไม่ใช่จรกา
๕. การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด หรือคำนึงถึงผลที่จะตามมา การจะทำอะไรลงไป เราควรจะคิดทบทวนหรือ ชั่งใจเสียก่อนว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ทำแล้วเกิดผลอะไรบ้าง แล้วผลที่เกิดขึ้นนั้นก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นหรือไม่ เกิดอย่างไรบ้าง เมื่อเรารู้จักคิดทบทวนก่อนจะกระทำอะไรนั้น จะทำให้เราสามารถลดการเกิดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ถ้าเราทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด ก็มีแต่จะเกิดปัญหาตามมามากมาย เราจะเห็นตัวอย่างได้จากเรื่องอิเหนาในตอนที่อิเหนาได้ไปร่วมพิธีศพของพระอัยกีแทนพระมารดาที่เมืองหมันหยา หลังจากที่อิเหนาได้พบกับจินตะหราวาตี ก็หลงรักมากจนเป็นทุกข์ ไม่ยอมกลับบ้านเมืองของตน ไม่สนใจพระบิดาและพระมารดา ไม่สนใจว่าตนนั้นมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ซึ่งมิได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากปัญหาที่ตนได้ก่อขึ้น จากการกระทำของอิเหนาในครั้งนี้ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
ที่มา พิกิวิเดีย