ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของฉัน

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เพชรพระอุมา

สี่แผ่นดิน นิยายอมตะสะท้อนสังคม


สี่แผ่นดิน (Four Reigns) เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 8 แต่งโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย นับเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องราวของพลอย (ในละครเรียกว่า แม่พลอย) ซึ่งมีชีวิตในช่วงรัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 8 โดยผู้ประพันธ์ได้เขียนเรื่องราวทีละตอนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยมิได้อาศัยโครงเรื่องแต่อย่างใด เพียงทบทวนความเดิมจากตอนที่แล้วก็เขียนต่อไปได้ทันที ผู้ประพันธ์เคยให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่าเมื่อได้ให้ชีวิตกับตัวละครในเรื่องที่เขียนแล้ว ตัวละครแต่ละตัวก็เหมือนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ผู้ประพันธ์เป็นเพียงคนถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตตัวละครเหล่านั้นออกมา
บทประพันธ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ด้งกล่าวได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง คราวหนึ่งถึงตอนที่แม่พลอยตั้งครรภ์แพ้ท้องก็มีคนส่งมะม่วงมาให้ถึงโรงพิมพ์ นักวิจารณ์หลายท่านเช่น ทมยันตี ชมเชยแกมเหน็บแนมว่า ผู้ประพันธ์เข้าใจหัวใจสตรีเพศที่เป็นตัวเอกของเรื่องได้เป็นอย่างดี ขนาดที่นักเขียนที่เป็นผู้หญิงเองหลายคนไม่อาจเทียบได้
สี่แผ่นดิน เคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้งและละครเวที ในปี พ.ศ. 2554
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2504
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2517
ครั้งที่สองทางช่อง 5 ปี 2517-18 นำแสดงโดย พัชรา ชินพงสานนท์ และ ประพาศ ศกุนตนาค ร่วมด้วย สุมาลี ชาญภูมิดล และ รจิต ภิญโญวนิชย์
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2523
ในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์บ้านเมืองได้จัดงานประกาศผลรางวัล ทีวีตุ๊กตาทองมหาชน ละครสี่แผ่นดินได้รับรางวัลทั้งสิ้น 3 รางวัล คือ ดารายอดนิยมฝ่ายชาย คือ นพพล โกมารชุน, นักแสดงรุ่นเยาว์ยอดนิยม ได้แก่ ด.ญ.พิไลพร เวชประเสริฐ (แม่พลอยวัยเด็ก) และรางวัลบทประพันธ์ยอดนิยม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
 ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2534
ครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2534 นำแสดงโดย จินตหรา สุขพัฒน์ นางเอกภาพยนตร์และนางเอกละครอันดับหนึ่งของประเทศไทย และ ฉัตรชัย เปล่งพานิช ทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์ทีวีสีช่อง 3 ถือเป็นละครสี่แผ่นดินครั้งที่ประสบความสำเร็จทั้งเรทติ้งและรางวัลมากที่สุด โดยเฉพาะจินตหรา สุขพัฒน์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวว่า "นี่ล่ะแม่พลอยของฉัน"
ร่วมด้วย เพ็ญพิสุทธิ์ คงสมุทร, ธิติมา สังขพิทักษ์, ธัญญา โสภณ, อานนท์ สุวรรณเครือ, ตฤณ เศรษฐโชค, สถาพร นาควิลัย, รอน บรรจงสร้าง, พลรัตน์ รอดรักษา, ตรีรัก รักการดี, พาเมล่า เบาว์เด้น, ศานติ สันติเวชชกุล, กษมา นิสสัยพันธ์, สมมาตร ไพรหิรัญ, สมภพ เบญจาธิกุล, นันทวัน เมฆใหญ่, พงษ์ลดา พิมลพรรณ, พิราวรรณ ประสพศาสตร์, รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง, เฉลา ประสพศาสตร์, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ณัฐนี สิทธิสมาน, อรอุไร เทียนเงิน, ปริศนา กล่ำพินิจ, มนัส บุณยเกียรติ, เกศิณี วงษ์ภักดี, อารดา ศรีสร้อยแก้ว, จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ด.ญ. ชุมพิชา ชัยสรกานต์, ด.ญ. กัญญาลักษณ์ บำรุงรักษ์, ด.ญ. ปานิศา วิชุพงษ์, ด.ช. กิตติเทพ บุณยเกียรติ, อภิชาติ รัตนถาวร, ด.ช. ธนิสร อำไพรัตนพล, ด.ญ. วรพรรณ จิตตะเสนีย์, ด.ช. มนตรี เนติลักษณ์, ด.ช. พีรพันธุ์ สุขประยูร
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2546
ครั้งที่ 5 โมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อปี พ.ศ. 2546 กำกับโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล โดย บริษัท ทูแฮนส์ จำกัด ซึ่งได้รับคำชมในเรื่องฉากและเครื่องแต่งกายที่ทำได้อย่างสมจริงเนื่องจากมีทุนใช้ในการถ่ายทำสูงมาก นำแสดงโดย สิริยากร พุกกะเวส และ ธีรภัทร์ สัจจกุล
ละครเวที พ.ศ. 2554
ในปี พ.ศ. 2554 ถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสซีเนริโอ ได้นำบทประพันธ์นี้มาสร้างเป็นละครเวทีเป็นครั้งแรก เพื่อฉลอง 100 ปีชาตกาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ผู้ประพันธ์ ในชื่อว่า สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล โดยให้นักแสดงหญิงมากฝีมือ สินจัย เปล่งพานิช รับบท "แม่พลอย" ประกบ เกรียงไกร อุณหะนันทน์ ในบท "คุณเปรม", นภัทร อินทร์ใจเอื้อ (กัน เดอะสตาร์) ประกบคู่ พิมดาว พานิชสมัย เป็น "คุณเปรม-แม่พลอย" ในวัยหนุ่มสาว ส่วนแก็งค์ลูก ๆ ได้ อาณัตพล ศิริชุมแสง (อาร์ เดอะสตาร์), สิงหรัตน์ จันทร์ภักดี (สิงโต เดอะสตาร์), ยุทธนา เปื้องกลาง (ตูมตาม เดอะสตาร์) มาประชันบทบาท ส่วน "แม่ช้อย" เพื่อนสนิทของ แม่พลอย รับบทโดย รัดเกล้า อามระดิษ ส่วน "แม่พลอย" วัยเด็ก รับบทโดย น้องพินต้า-ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เริ่มแสดง 30 พฤศจิกายน 2554 ที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์
เหลียวหลังแลหน้าสี่แผ่นดิน
นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1360
ผมเกือบลืมเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ไปแล้ว เพราะเคยอ่านเพียงครั้งเดียว แล้วไม่ติดใจอะไรเป็นพิเศษ แต่ทีวีเขาเอาเทปเก่าละครเรื่องนี้ มาฉายกันใหม่ จะเก่าตั้งแต่สมัยไหนผมก็ไม่ทราบ แต่คุณจินตหรา สุขพัฒน์ ซึ่งปัจจุบันก็สวยมากอยู่แล้ว ในละครกลับสวยเสียจนตะลึงตะลานไปทีเดียว
และเพราะคุณจินตหรานี่แหละ ทำให้ผมได้ดูละครเรื่องนี้อยู่หลายตอนด้วยกัน จึงทำให้ได้คิดอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนเกี่ยวกับเรื่อง "สี่แผ่นดิน"
นานมาแล้วตั้งแต่สมัยผมเป็นหนุ่ม ครูฝรั่งในเมืองไทยของผมคนหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า น่าประหลาดที่ผู้เขียน "สี่แผ่นดิน" เป็นผู้ชาย แต่เลือกที่จะใช้ผู้หญิงเป็นคนดำเนินเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสี่แผ่นดินของสังคมไทย
ในสายตาของครู นวนิยายย่อมไม่ประสงค์จะบันทึกประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลง แต่ย่อมทำอะไรที่นักประวัติศาสตร์มักไม่ยอมรับว่าตัวทำ นั่นคือ "อ่าน" ความเปลี่ยนแปลงไปตามอุดมคติ, อคติ, ค่านิยมและโลกทรรศน์ของตนเอง แล้วอ้างว่านั่นแหละคือความจริง (แต่นักเขียนนวนิยายไม่อ้าง)
ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมมีสองมิติเสมอ คือมิติด้านนอกซึ่งมีหลักฐานหรือคำยืนยันรองรับ เช่น มีรถไฟ, มีโทรเลข, เล่นจักรยาน, ฯลฯ และมีมิติด้านในคือความรู้สึกนึกคิด และธรรมารมณ์ต่างๆ ของผู้คน ส่วนนี้แหละครับที่นักเขียนนวนิยายต้องจินตนาการขึ้นเองจากเงื่อนไขของตัวละครแต่ละตัว
ประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยระหว่างผู้หญิง (ชาววัง) และผู้ชายน่าจะต่างกันมาก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นักเขียนผู้ชายจะเลือกสะท้อนมิติด้านในดังกล่าวนั้นผ่านตัวละครหญิงไปทำไม
ตอนที่ผมฟังครั้งนั้นก็ไม่ได้แย้งอะไร เพราะนึกไม่ออกแม้ว่าใจยังไม่ค่อยยอมรับนักก็ตาม
ละครทีวีเรื่อง "สีแผ่นดิน" ครั้งนี้ทำให้ผมคิดออกว่าจะแย้งอย่างไร
ผมคิดว่าการที่ผู้เขียนเลือกใช้แม่พลอยเป็นผู้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยนั้นเป็นกลวิธีการแต่ง ซึ่งสื่อความที่ผู้เขียนต้องการหลายอย่าง โดยไม่ต้อง "เฉลิมพระเกียรติ" ด้วยถ้อยคำกะหลาป๋า อย่างละครกะหลาป๋าทางทีวีสมัยนี้ หรือนวนิยายเรื่องอื่น ที่ลอกเลียน "สี่แผ่นดิน" ในระยะต่อมา
ในทัศนะของผู้เขียน "ในวัง" นั่นแหละคือศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ทำความเปลี่ยนแปลงด้วย ไม่ถูกบิดเบือนด้วยเงื่อนไขอื่นๆ ของชีวิตภายนอก ฉะนั้น ตัวละครที่จะทำหน้าที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จึงต้องเป็นผู้หญิงซึ่งคือเพศเดียวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในนั้นได้
แต่ในขณะเดียวกัน "ในวัง" ก็ใช่จะห่างเหินจากโลกภายนอก เพราะตลอดเรื่องจะมีชีวิตของคนข้างนอก ที่เข้าไปกระทบถึงตัวละครในนั้นตลอดเวลา ข่าวสารข้อมูลไหลเข้าออกสม่ำเสมอเป็นปรกติ
ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะ "โต้" ก็คือ โลกที่ขังตัวเองไว้หลังกำแพงอิฐหนาทึบนั้น อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้นำ และกำกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งสังคมหรือไม่ "สี่แผ่นดิน" บอกอย่างชัดเจนว่าเหมาะ
และเหมาะกว่าโลกที่มีรั้วโปร่งของวังสวนกุหลาบ (ทำเนียบนายกฯ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม) หรือบ้านมนังคศิลา (ซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาลปัจจุบัน) ด้วยซ้ำ เพราะรั้วโปร่งของศูนย์เหล่านั้น ไม่ได้ช่วยป้องกันมิให้ผู้นำ หลุดลอยออกไปจากโลกของความเป็นจริงเลย
ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้ "สี่แผ่นดิน" ต้องเป็นเรื่องของแม่พลอยเป็นกลวิธีการเขียนที่ทั้งจำเป็นและทั้งชาญฉลาด
แต่กระนั้น ก็ยังมีเรื่องของหญิง-ชาย (เพศสภาพ) ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งใน "สี่แผ่นดิน" ซึ่งผมเพิ่งนึกออกเมื่อดูละครทีวีเรื่องนี้
ขอให้สังเกตนะครับว่า พระเจ้าแผ่นดินใน "สี่แผ่นดิน" นั้นไม่เคยปรากฏพระองค์ในเรื่องมากไปกว่าพระบาท เพราะนั่นคือสิ่งที่ตัวละครมองเห็นเมื่อหมอรับเสด็จอยู่
เมื่อเป็นเช่นนี้ "สี่แผ่นดิน" จะแสดงการุณยธรรมอันลึกซึ้ง และภูมิปัญญาอันล้ำลึกในการหยั่งสถานการณ์ต่างๆ ของระบอบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางได้อย่างไร
ผู้เขียนเลือกที่จะแสดงสิ่งเหล่านี้ผ่านตัวละครที่เป็นสถาบันเพราะไม่มีตัวตนอีกตัวหนึ่งคือ "เสด็จฯ"
"เสด็จฯ" นั้นมีพระเดชแน่ เพราะทุกคนในตำหนักต่างกลัวเกรงระบอบต่อพระเดชของ "เสด็จฯ" กันทุกคน แต่ตลอดเรื่องไม่เคยทรงใช้ "พระเดช" นั้นเองโดยตรงสักครั้งเดียว พระเดชของ "เสด็จฯ" นั้นลอยอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ อันแจ่มจรัสบนท้องฟ้า ผู้หลักผู้ใหญ่ในตำหนักอาศัยแสงจากดวงอาทิตย์นั้น จัดระเบียบสังคมให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์
เช่น แม่ช้อยซึ่งมักเดินเสียงดัง ก็จะถูกผู้ใหญ่ตำหนิว่าจะรบกวนพระบรรทม เป็นต้น
ตรงกันข้าม หาก "เสด็จฯ" จะเป็นปัจจัยให้เรื่องดำเนินไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องของพระคุณอันเปี่ยมล้น ซึ่งปกแผ่แก่ข้าในตำหนักทุกคน ทั้งที่ยังฉลองพระคุณอยู่หรือออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว อีกทั้งพระกรุณานั้นยังประกอบด้วย พระสติปัญญาอันล้ำลึกที่มีต่อโลกและชีวิต จึงประทานคำสั่งสอนอันมีคุณประโยชน์แก่ผู้รับไปได้ตลอดชีวิต
ดังที่กล่าวแล้วนะครับว่า "เสด็จฯ" คือตัวแทนของระบอบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสายตาของผู้ประพันธ์นั่นเอง
ที่น่าสังเกตสำหรับผมก็คือ ในทัศนะของผู้เขียนระบอบดังกล่าวมีเพศสภาพเป็นหญิง (ลองคิดถึงสถานะ และบทบาทของแม่-พ่อในวัฒนธรรมไทย)
ในวัฒนธรรมไทย ความสัมพันธ์ระหว่างนาย-บ่าว, ผู้ใหญ่-ผู้น้อย, ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ มีเพศสภาพเป็นหญิงก็ได้ชายก็ได้ เป็นสองด้านของความสัมพันธ์อันเดียวกัน
ด้านที่เป็นชายคืออำนาจหรือพระเดช ซึ่งผู้อุปถัมภ์แสดงต่อผู้ใต้อุปถัมภ์โดยตรง เช่น การลงโทษ หรือบังคับควบคุม ด้วยการแสดงอำนาจทางกาย แม้แต่การปกป้องมิให้ผู้ใต้อุปถัมภ์โดนรังแกหรือพ้นคดีความผิดใดๆ เพศสภาพชายก็จะใช้พระเดช เช่น มีบันทึกสั้นๆ บนนามบัตรไปให้สารวัตรจราจรว่าช่วย "ดูแล" ผู้ใต้อุปถัมภ์ของตนหน่อย สารวัตรจราจรอ่านแล้วก็รีบคืนใบขับขี่ให้แก่ผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรไป
ในส่วนเพศสภาพหญิงในความสัมพันธ์นี้ คือความเอื้อเฟื้อเจือจาน การให้คำแนะนำสั่งสอน และความอาทรต่อความกินดีอยู่ดีทั้งในปัจจุบัน และอนาคตของ "ลูกน้อง" อันเป็นอีกด้านหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (ซึ่งค่อนข้างจะหายไปในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน)
ทั้งสองด้านก็ล้วนเป็นเรื่องของอำนาจทั้งนั้นนะครับ แต่แสดงออกซึ่งอำนาจนั้นแตกต่างกัน
ที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ผู้เขียน "สี่แผ่นดิน" ซึ่งเป็นปัญญาชนที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติทางการเมืองของคนไทยปัจจุบันมาก เสนอระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยในเพศสภาพหญิง
คือเน้นด้านที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณ, พระบรมราโชวาทที่เป็นคุณประโยชน์ต่อพสกนิกร, พระวิริยะอุตสาหะ ที่จะช่วยเหลือประชาชน ผู้ตกทุกข์ได้ยาก, และพระปัญญาธิคุณอันล้ำลึก ที่จะทรงหยั่งรู้และเท่าทันสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศและในโลก
นานมาแล้วอีกเหมือนกัน ครูฝรั่งในเมืองฝรั่งของผมคนหนึ่งถามผมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยปัจจุบันเลือกที่จะแสดงบทบาทพระคุณในขณะที่นายกฯ ซึ่งมาจากการรัฐประหารแสดงบทบาทของพระเดช (ม.17 ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน)
ฟังดูเข้าทีดีนะครับ แต่คำถามก็คือ
แต่เดิมนั้น บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย คือพระเดช ในขณะที่บทบาทของพระสงฆ์ต่างหากที่เป็นพระคุณ เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใดจึงไม่มีความขัดแย้งระหว่างคณะสงฆ์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน
ผมตอบไม่ได้ในครั้งนั้น และว่าที่จริงก็ยังตอบไม่ได้ในครั้งนี้ด้วย เพียงแต่เริ่มมองเห็นอะไรบางอย่างในตัวคำถาม และคำตอบบ้างนิดหน่อย
บทบาทที่แยกระหว่างพระสงฆ์เป็นพระคุณพระมหากษัตริย์เป็นพระเดชนั้น อยู่ในสมัยไหนกันแน่ ผมคิดว่าอยู่โน่นแน่ะครับ คือสมัยพระเจ้าปราสาททอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ในสมัยก่อนที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในรัชกาลที่ 5
ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามนั้น แสดงออกซึ่งด้านพระคุณเป็นที่ตั้งด้านเดียวหรือไม่ แต่ "ภาพ" ของระบอบนี้ซึ่งถูกสร้างขึ้นทั้งในสมัยนั้นและหลังจากนั้น เสนอให้มีเพศสภาพเป็นหญิง หรือมีความสัมพันธ์กับไพร่ฟ้าประชากรด้วยพระคุณเป็นที่ตั้ง
ผู้แต่ง "สี่แผ่นดิน" ไม่ใช่คนแรกที่สร้างภาพนี้ขึ้น ที่จริงแล้วเพียงแต่รับเอาภาพนี้มาจากนักปราชญ์รุ่นก่อนขึ้นไปเท่านั้น
ใครจะเป็นคนแรกที่สร้างภาพนี้ก็ตาม แต่นี่คือภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยยึดถือ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ พ.ศ.2500 สืบมาจนถึงปัจจุบัน พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน (รวมทั้งภาพยนตร์และรายการทีวีที่มีผู้สร้างและเสนอต่อสาธารณชนด้วย) ก็จะให้ภาพของพระคุณเป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ เพราะนับตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยในระบอบที่เรียกกันว่า "ประชาธิปไตย" นั้น จำลองอุดมคติของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นพื้นฐาน
พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน สถานะและบทบาทจะพึงเป็นอย่างไร ต้องเกิดจากประสบการณ์ของไทยเอง และผมคิดว่าสถานะและบทบาทนั้นพัฒนาขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้เอง อันจะเป็นลักษณะอุดมคติของสถาบันนี้สืบไปในภายหน้าด้วย
และนั่นคือเป็นสถาบันที่ทรงพระคุณและมีเพศสภาพหญิง

วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือวรรณคดีในช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรณคดีในสมัยนี้ที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ วรรณคดีพุทธศาสนา วรรณคดีคำสอนหรือตำรา วรรณคดีนิทาน และวรรณคดีพงศาวดารต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นวรรณคดีที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา บางส่วนเป็นวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลเพิ่มขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือวัฒนธรรมจีนและมอญ บทความนี้ยกตัวอย่างวรรณคดีบางเรื่องที่มีความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน

วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นสืบทอดสายธารวรรณคดีมาจากสมัยอยุธยา ดังนั้น อิทธิพลวรรณคดีต่างประเทศจึงเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เมื่อเริ่มสมัยราชวงศ์จักรี มีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือชำรุดเนื่องจากภาวะสงครามที่ยาวนานตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาถึงสมัยกรุงธนบุรี วรรณคดีจำนวนมากถูกรังสรรค์ขึ้นใหม่จากต้นฉบับของเดิมที่ยังเหลืออยู่ และสร้างสรรค์ใหม่ จากความรู้และความเชี่ยวชาญทางวรรณศิลป์ของกวีสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ยังมีการรับวรรณคดีจากต่างประเทศจากแหล่งอื่น ๆ เข้ามาอีกด้วย อาจจำแนกกลุ่มวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ที่รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีต่างประเทศได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่

วรรณคดีพุทธศาสนา
วรรณคดีหมวดนี้มีความสำคัญเพราะเป็นหลักยึดในด้านความศรัทธาเชื่อถือของประชาชน ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชำระพระไตรปิฎก ใน พ.ศ. 2331 เพื่อบูรณะพระคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักของบ้านเมือง นอกจากนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังมีการสร้างวรรณคดีศาสนาอีกจำนวนมาก โดยได้อิทธิพลจากคัมภีร์ในพุทธศาสนา ทั้งพุทธประวัติ ชาดก และแนวคิด เช่น
  • ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ของ พระยาธรรมปรีชา (แก้ว)
  • ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
  • ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก 11 กัณฑ์ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
  • พระปฐมโพธิกถา พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
วรรณคดีคำสอน/ตำรา เช่น
  • กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
  • โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร
  • ฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
วรรณคดีนิทาน เช่น
  • บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  • บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  • บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  • บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  • บทละครเรื่องดาหลัง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  • บทละครเรื่องดาหลัง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  • บทละครเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  • ลิลิตเพชรมงกุฎ ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
  • กากีกลอนสุภาพ ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
  • สรรพสิทธิคำฉันท์ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
  • สมุทรโฆษคำฉันท์ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
  • พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
  • นิทานอิหร่านราชธรรม บันทึกใหม่จากฉบับสมัยอยุธยา ของ ขุนกัลยาบดี
วรรณคดีพงศาวดารต่างชาติ เช่น
  • สามก๊ก ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
  • ไซฮั่น ของ กรมพระราชวังหลัง
  • ราชาธิราช ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
วรรณคดีดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญและมีอิทธิพลต่อวรรณคดีในยุคหลัง รวมทั้งมีความสำคัญในด้านวรรณคดีศึกษาต่อมาจนถึงปัจจุบันด้วย ในที่นี้จะกล่าวถึงวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศบางเรื่อง

ที่มา http://www.baanjomyut.com